พระธรรมเทศนา ศาสนา ในสายตาของข้าพเจ้า

ศาสนา ในสายตาของข้าพเจ้า

ก่อนอื่นที่จะศึกษาบทความในที่นี้ ข้าพเจ้าขอเรียนท่านผู้อ่านว่า ข้าพเจ้าไม่ใช่นักเขียนนักเทศน์ หรือนักธรรม อะไรทั้งสิ้น ตามปรกติแล้วข้าพเจ้าเป็นนักฟัง คือชอบฟังเมื่อฟังและศึกษานาน ๆ เข้า ก็เลยเกิดความคิดบางอย่างขึ้นมา และก็ประจวบเหมาะกับเวลาที่ข้าพเจ้ามีอายุอานามย่างเข้า……..ปี ก็เลยคิดอยากจะให้มีอนุสรณ์สักอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแต่ว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่มีประโยชน์พอสมควร จึงได้จัดสรรหาเรื่องต่าง ๆ ที่จะมาพิมพ์

แต่เนื่องด้วยข้าพเจ้าเป็นผู้ทำงานเกี่ยวข้องทางศาสนาเป็นประจำตลอดมา จึงทำให้เกิดความคิดที่จะพูดเรื่องศาสนาสู่กันฟัง เมื่อตกลงปลงใจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงให้นามว่า “ศาสนาในสายตาของข้าพเจ้า” โดยสังเขป แต่จะเป็นการเหมาะสมด้วยประการใดหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่ท่านสาธุชนทั้งหลายจะพิจารณา

ถ้าขาดตกบกพร่องประการใด หวังว่าคงได้รับอภัยและคงได้รับการต่อเติมเพิ่มสติปัญญาจากครูบาอาจารย์ ท่านผู้รู้ทั้งหลายอีกด้วยที่เขียนนี้ก็มิได้มีจุดประสงค์จะให้ผู้อ่านเชื่อเลยทีเดียว เป็นแต่ว่าข้าพเจ้าเล่าความรู้สึกที่ได้ประสบการณ์มาสู่กันฟังเท่านั้น เพื่อให้สาธุชนทั้งหลายพิจารณาต่อไป
           
พูดถึงเรื่องการพระศาสนาในปัจจุบันนี้ เท่าที่ได้สังเกตดู หมายถึงพุทธศาสนาของเรารู้สึกว่าการศึกษาพระปริยัติธรรม มีความเจริญขึ้นมาก ทั้งในกรุงและหัวเมือง ตลอดถึงชนบทที่ห่างไกลจากความเจริญในทางโลก ก็มีการศึกษากันดาดดื่นไปหมด

และยังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นลำดับ แถมยังมีตำหรับตำราศึกษากันอย่างมากมาย นับว่าการศึกษาทางฝ่ายปริยัติเจริญก้าวหน้าอย่างเต็มที่ และเพียงพอแก่ความต้องการทีเดียว
           
ที่จริงเรื่องการพระศาสนานั้น
ถ้าจะว่ากันอย่างสมบูรณ์แบบจริง ๆ ตามหลักของพระพุทธองค์แล้ว จะต้องมีทั้งปริยัติและปฏิบัติเป็นคู่กันไป จะขาดเสียอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ถ้ามีแต่ปริยัติอย่างเดียว ไม่มีภาคปฏิบัติด้วย การศึกษาก็ไม่มีผลเท่าที่ควร บางทีอาจะเป็นโทษก็ได้

เช่น ศึกษาไป ๆ ไม่เห็นอะไรเกิดขึ้น เลยเข้าใจว่าว่าศาสนาไม่มีความหมายอะไร อย่าเวลานี้เรามีนักศึกษาธรรมเต็มบ้านเต็มเมือง แต่เท่าที่สังเกตดูผู้ที่มีความซึ้งในพระศาสนา รู้สึกว่ามีจำนวนน้อยมาก เท่าที่เห็นมา บางคนเป็นถึงมหาบาเรียน นักเทศน์ และนักปาฐกถา เป็นผู้สอนธรรมะ

แต่ความประพฤติไม่สมกับเป็นผู้ศึกษาธรรม เช่น เล่นการพนันบ้าง ดื่มสุราบ้าง เป็นต้น ความประพฤติดังกล่าวนี้เป็นความประพฤติที่ไม่เหมาะสมกับฐานะของตัวเอง บางคนยังพูดจาบิดพริ้มต่อความจริงทางพระศาสนาอีกด้วย เช่น พูดถึงเรื่องสวรรค์และนรกว่าไม่ใช่เรื่องจริงจังอะไร เป็นเรื่องเขียนขึ้นมาขู่เด็กเล่น

นรก ได้แก่คนที่ติดคุกติดตาราง สวรรค์ ได้แก่คนที่ร่ำรวยเป็นเศรษฐี เป็นพระราชามีปราสาทราชวังเป็นที่ประทันนั้นแหละคือสวรรค์ ความจริงแล้วเรื่องนรกและสวรรค์ จะมีจริงหรือไม่นั้น ให้ทดลองปฏิบัติดูก่อน จนได้รับผลดีแล้วจะสิ้นสงสัยเอง ว่าจริงหรือไม่จริงสิ่งทั้งหลายดังกล่าวมานี้ ก็เนื่องมาจากผู้ศึกษาธรรมะแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตาม จึงทำให้ผู้ที่ยังไม่นับถือพระศาสนาดูถูกเหยียดหยามได้

เพราะความประพฤติของผู้ศึกษาธรรมะเป็นต้นเหตุ ที่พูดนี้ก็มิได้หมายความว่าไม่ให้ใครดูถูกเหยียดหยามเลย มิใช่อย่างนั้น เรื่องของโลกใครจะดีจะชั่วแค่ไหน ก็มีทั้งนินทาและสรรเสริญด้วยกันทั้งนั้น แต่ว่าสิ่งที่น่าคิดนั้นคือถ้าเขาตำหนิถูกจุดที่ไม่ดีของเรา

พวกเราก็น่าจะแก้ตัว ไม่น่าจะยอมให้เขาตำหนิอยู่ได้ คือ ต้องประพฤติตัวให้สมกับฐานะของเรา พูดง่าย ๆ ก็คือ เราเป็นนักธรรม ก็ต้องปฏิบัติธรรม ถ้าเราปฏิบัติธรรมเรียกว่าเป็นผู้เทิดทูนพระศาสนา ถ้าประพฤติตรงกันข้ามก็เรียกว่าเป็นการย่ำยีพระศาสนา ความจริงแล้วศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่มีสัจจะธรรม ที่มีคุณค่าประโยชน์ต่อชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก เพราะเป็นคำสอนทำให้คนเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ และเป็นคำสอนที่มีเหตุมีผลโดยสมบูรณ์ สามารถให้ปัญญาชนทุกชั้นพิสูจน์ได้โดยไม่สะทบสะท้าน และเป็นคำสอนที่ยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติมากมายหลายชั้นหลายระดับ

เช่น ใครมีความประสงค์ต้องการมนุษย์สมบัติในชาตินี้พระองค์ก็สอน ทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ให้ ถ้าต้องการชาติหน้าพระองค์ก็สอน สมปรายิกตถประโยชน์ให้ ถ็าต้องการความหลุดพ้นในชาตินี้ หรือว่าใครมีวาสนาบารมีพอที่จะหลุดพ้นในชาตินี้ได้

พระองค์ก็สอน ปรมตถ ประโยชน์ให้ คือ ประโยชน์ยอดเยี่ยม ได้แก่ “พระนิพพาน” ซึ่งเป็นสถานที่พ้นไปจากความทุกข์ความเดือดร้อน ไม่มี เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่ต้องมาเวียนว่ายตายเกิดให้ลำบาก และเท่าที่ได้ศึกษามาเรื่องศาสนาต่าง ๆ ในโลก ที่สอนให้ถึงพระนิพพาน ดูเหมือนจะมีเฉพาะพุทธศาสนาเท่านั้น
           
พูดถึงเรื่องพุทธศาสนาแล้ว เป็นศาสนาที่มีคำสอนละเอียดลึกซึ้งสุขุมคัมภีร์ภาพมาก ยากแก่การศึกษามิใช่น้อย แม้แต่บางคนที่ “ปฏิญาณ” ตน ว่าเป็นพุทธมามกะ ผู้นับถือพระพุทธศาสนาก็ตามแต่การกระทำของเขานั้น ส่อแสดงให้เห็นว่ายังไม่ซาบซึ้งในพระศาสนา เช่น เห็นกุฏิ วิหาร เป็นพุทธศาสนา เชื่อการให้ทานบริจาคภายนอกอย่างเดียว ว่าเป็นการเทิดทูนพระศาสนา ลักษณะดังกล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่าความเข้าใจเรื่องพุทธศาสนายังผิวเผินมาก

ถ้าพวกเรามัวสนใจแต่เรื่องภายนอก ไม่เสียสละเวลาปฏิบัติธรรมเกี่ยวกับเรื่อง “สมาธิจิต”แล้ว จะไม่มีโอกาสเข้าใจซาบซึ้ง “แก่น” ของพระศาสนาได้ ความจริงแล้วเรื่องการบำเพ็ญกุศลในทางพุทธศาสนานั้นมีมากมายหลายประการเหลือที่จะพรรณา แต่ถ้าจะสรุปให้สั้นก็มีอยู่ ๓ ประการ

คือ ๑ ทานการให้ปันสิ่งของ ๆ ตนให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่น ๒ ศีล คือ การสำรวมกายวาจาให้เรียบร้อยไม่ทำไม่พูดในทางที่เป็นบาปและเสียมรรยาท ๓ ภาวนา คือ การเจริญหรือทำให้เกิดให้มีขึ้นแต่ถ้าจะว่าตามความหมายก็ได้แก่การบำเพ็ญในทางใจจนจิตบรรลุถึงความบริสุทธิ์ ตอนสุดท้ายนี้ถือว่าเป็นการบำเพ็ญมหากุศลอย่างสูงสุดในทางพุทธศาสนา ถ้าใครยังไม่เคยบำเพ็ญภาวนา ถึงแม้จำทำทานการกุศลต่าง ๆ มามากมายก็ตาม ก็ยังสู้การภาวนาไม่ได้

เพราะการบำเพ็ญกุศลอย่างอื่น เช่น ให้ทานก็ดี รักษาศีลก็ดี เป็นเพียงบาทฐานที่จะก้าวเข้าไปสู่ความพ้นทุกข์เท่านั้นที่จะให้เป็นไปเพื่อควมพ้นทุกข์ที่แท้จริง ต้องอาศัยการภาวนา ฉะนั้น การภาวนาจึงถือว่าเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ และเป็นการบำเพ็ญมหากุศลที่สูงสุดในทางพระพุทธศาสนา

ส่วนการบำเพ็ญอื่น ๆ เป็นเพียงเครื่องประกอบเท่านั้น ในโอกาสนี้ ข้าพเจ้าจึงอยากขอเชิญชวนท่านพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ให้หันมาสนใจการปฏิบัติธรรม คือ การบำเพ็ญภาวนากับดูบ้างตามสมควร พวกเราจะได้ชิมรสชาดเหนือรสทั้งหลายใด ๆ ในโลก ดังมีบทบาลีกล่าวสมอ้างไว้ว่า สพพรส ธมมรโส ชินาติ, รสแห่งธรรมชนะรสทั้งปวง ดังนี้
           
และอีกอย่างหนึ่ง ผู้ที่จะเข้าใจซาบซึ้งถึงแก่นของพระศาสนาได้
ต้องอาศัยการปฏิบัติ หรือการบำเพ็ญภาวนา ถ้ายังไม่เคยปฏิบัติหรือบำเพ็ญภาวนา ถึงแม้จะศึกษาให้รู้มากเท่าไรก็ไม่มีโอกาสได้ดื่มรสชาติของพระธรรมได้ อุทาหรณ์ข้อนี้ มี “พระโปฐิละ” เป็นตัวอย่าง ดังมีเรื่องปรากฏในคัมภีร์พระธรรมบท ขุททกนิกาย่า พระโปฐิละ เป็นผู้คงแก่เรียน คือ ศึกษารู้พระไตรปิฏกมาก และสั่งสอนศิษยาศิษย์ จนได้สำเร็จคุณธรรมเป็นพระอรหันต์กันมากมาย

แต่สำหรับท่านเองไม่ได้ปฏิบัติ แม้แต่โอภาส คือ แสงสว่างก็ไม่เคยปรากฏแก่ท่าน จึงเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงตำหนิว่า “ภิกษุคัมภีร์เปล่า” หรือ “โมฆบุรุษ” คือ บุรุษที่เปล่าจากประโยชน์ นี้ก็แสดงให้เห็นว่าผู้ที่จะเข้าใจลึกซึ้งในทางพุทธศาสนานั้น ก็คือผู้ “ปฏิบัติ” ถ้าไม่ปฏิบัติอยู่ตราบใดก็ไม่มีโอกาสเข้าใจซึ้งในพุทธศาสนาตราบนั้น

แม้แต่พระพุทธเจ้าเอง ก่อนแต่พระองค์จะได้ธรรมะมาประกาศเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์แก่พวกเราได้ ตามตำนานปรากฏว่าพระองค์บำเพ็ญมาอย่าง “อุกกฤษฎ์” จนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด แต่พอได้สำเร็จเป็น “สมัยภู” แล้ว ในระหว่างที่พระองค์เสด็จสัญจรจาริกอบรมสั่งสอน แก่บรรดานิกรเวไนยสัตว์

พระองค์ก็ได้แสดงถึงมรรคาคือทางปฏิบัติ ได้แก่ “มรรคแปด” อันเป็นทางดำเนินไปสู่ความพ้นทุกข์แก่ผู้ที่มีความเลื่อมใสได้ปฏิบัติตาม แถมยังตรัสว่า “ถ้าใครปฏิบัติตามมรรคแปดอยู่ตราบใดโลกย่อมไม่ว่างจากพระอรหันต์” นี้แสดงให้เห็นว่าศาสนาของพระองค์นั้นสำคัญที่การปฏิบัติ

แม้แต่พระองค์เองก่อนแต่จะเป็นพระศาสดามาได้ ก็เพราะการปฏิบัติ มิใช่ว่าอยู่เฉย ๆ ก็เป็นขึ้นมาเอง มิใช่อย่างนั้น เมื่อพวกเราฟังดูแล้วก็เห็นได้ว่า ผู้ประพฤติปฏิบัติตามโอวามคำสั่งสอนของพระองค์นั้นและ คือ ผู้ที่ “เทิดทูนพระศาสนา”
            
ฉะนั้น ขอให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย
จงมาช่วยกันฟื้นฟูพระศาสนา ในด้านการปฏิบัติให้มาก จนได้ดื่มรสชาติแห่งพระธรรม แล้วศาสนาของพวกเราจะเป็นไปเพื่อความเจริญ และพวกเราในฐานะผู้เป็น “ศาสนาทายาท” ผู้สืบพระศาสนา และศาสนาจะเสื่อมหรือจะเจริญก็อยู่ที่พวกเรา

ถ้าพวกเราไม่สนใจในการปฏิบัติธรรมเมื่อใด ศาสนาก็เสื่อมเมื่อนั้น ถ้าพวกเรายังสนใจในการปฏิบัติธรรมอยู่ตราบใด ศาสนาของพวกเราก็ยังไม่เสื่อมอยู่ตราบนั้น เรื่องการปฏิบัติธรรมนั้นเป็นของสำคัญ

แม้แต่ตอนที่พระองค์จะปรินิพพานแล้ว ยังตรัสแด่พระอานนท์ว่า ดูกร อานนท์ การบูชาทั้งหลายมีการปฏิบัติบูชา…………..เป็นของสำคัญยิ่ง ถ้าใครปฏิบัติตามโอวาทคำสั่งสอนของเราตถาคต จนเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ได้ ชื่อว่าบูชาเราเป็นอย่างยิ่ง

และอีกประการหนึ่ง ศาสนาของเรา ตถาคต จะเสื่อมหรือจะเจริญก็เพราะพุทธบริษัทสี่ เป็นผู้ย่ำยีหรือเทิดทูน ไม่ใช่ใครที่ไหนจะมาทำลายหรือเทิดทูนศาสนาของเราได้ ถ้าพุทธบริษัทพากันประพฤติปฏิบัติตามโอวาทคำสั่งสอนอยู่ตราบใด ศาสนาของเราก็เจริญอยู่ตราบนั้น ถ้าขาดผู้ปฏิบัติตามเมื่อใด ศาสนาก็เสื่อมทันที
            
พูดถึงพุทธศาสนาของเราตามความรู้สึกของข้าพเจ้า
เห็นว่าเรื่องการปฏิบัติอันเป็นส่วนสำคัญยิ่งของพระศาสนานั้น จะเรียกได้ว่าเหลือแสงเพียงริบหรี่เลืองลางเต็มทีแล้ว ถ้าพวกเรายังไม่สนใจในการปฏิบัติกันจริงๆจังๆ จนเห็นผลเป็นที่แน่นอนแล้ว ในที่สุดก็อวสานแห่งพระศาสนา
            
บัดนี้ พวกเรานับว่ามีโอกาสอันประเสริฐที่เกิดมาพบปะพระพุทธศาสนา
ซึ่งเป็นศาสนาที่มีคำสอนที่เป็นสารประโยชน์สำคัญยิ่งต่อชีวิตของมนุษย์ และเป็นคำสอนที่มีเหตุผลอย่างสมบูรณ์ทั้งเป็นศาสนาที่มี “อิสระเสรี” ในการนับถืออีกด้วย พวกเราทั้งหลายสามารถยังผู้ปฏิบัติตามให้ได้รับผล เป็นสิ่งอัศจรรย์มาก

ถ้าเราปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระศาสนาจนสามารถทำจิตให้สงบ ถึงแม้ไม่มากเพียงเล็กน้อย เราจะมองเห็นความสุขอย่างแปลกประหลาดอย่างที่ไม่เคยได้รับมาก่อน และความสุขดังกล่าวมานี้ จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยการปฏิบัติตามหลักคำสอนทางพุทธศาสนาเท่านั้น ถ้าพวกเราลงมือปฏิบัติเพื่อเป็นการเทิดทูนพระศาสนา

ถึงแม้บารมีเรายังไม่แก่กล้าพอที่จะสำเร็จมรรคผลได้ก็ตาม ด้วยกุศลผลบุญที่พวกเราบำเพ็ญนี้จะเป็นนิสัยปัจจัยเพิ่มพูนบุญบารมีของเราให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น เมื่อเกิดมาชาติใดภพใดก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ ไม่เป็นใบ้บ้าบอดหนวก เสียจริต ผิดมนุษย์

ด้วยเดชบารมีที่เราสร้างในคราวนี้ตามอภิบาลคุ้มครองพวกเรา ให้มีนิสัยปัจจัยพอที่จะสำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษได้ในชาติต่อ ๆ ไป เมื่อไปพบปะพระศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในอนาคต พอเราได้ฟังธรรมของพระองค์ก็สามารถรู้แจ้งแทงตลอดเป็นอรหันตขีณาสพ สิ้นภพ สิ้นชาติ เข้าสู่ “อมตมหานฤพาน” อันเป็นสถานที่ไม่มี เกิด แก่ เจ็บ ตาย เสวยบรมสุขตลอดกาลนิรันดร
           
ในที่สุดนี้ ข้าพเจ้าขอตั้งจิตอธิษฐานถึงพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก จนบันดาลให้ท่านที่สนใจศึกษาธรรมเพื่อเทิดทูนพระศาสนา จงมีความสุขความเจริญในที่ทุกสถานในกาลทุกเมื่อ และรู้แจ้งแทงตลอดในศาสนาธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อช่วยกันฟื้นฟูพระศาสนา จงทุกถ้วนหน้ากัน เทอญฯ

ศาลาการเปรียญวัดเขาสุกิม ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๒


**ไม่อนุญาตให้นำไปเพื่อการค้าหรือจำหน่าย แต่สามารถพิมพ์แจกเป็นธรรมทานได้