พระธรรมเทศนา เปรียบเทียบผู้ที่มีการบำเพ็ญสมาธิจิตกับผู้ที่ไม่ได้บำเพ็ญ .

เปรียบเทียบผู้ที่มีการบำเพ็ญสมาธิจิตกับผู้ที่ไม่ได้บำเพ็ญ .

             พูดถึงเรื่องการทำสมาธิที่พวกเราทำกันเสมอมา แล้วก็คุยกันเสมอมา แต่อุบายของสมาธินี้ ก็จะมีสิ่งเปรียบเทียบ แต่อย่าว่าอาตมานี้เปรียบเทียบมนุษย์กับสัตว์ คือ จะยกตัวอย่างสัตว์มาเล่าเพื่อเป็นเรื่องสาธก ซึ่งเปรียบเทียบกับผู้ที่มีการบำเพ็ญสมาธิจิตกับผู้ไม่ได้กระทำ จะมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง คือ หมายถึงผู้ทำสมาธิจิตกับผู้ที่ไม่ได้ทำสมาธิจิต ผู้ที่ทำสมาธิจิตนี้เหมือนกันกับว่าสร้างกำลัง “ตปธรรม” หรืออำนาจตัวคุ้มครอง อันนี้พวกเราก็พอจะเข้าใจ เพราะพวกเราคุยกันมาแทบทุกวันพระ หรือแทบจะทุกวัน ทีนี้พวกที่ไม่มีการบำเพ็ญ คือ ไม่มีการบำเพ็ญสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ ก็จะเปรียบเทียบถึงเรื่องสัตว์ให้ฟัง คือ

            สมมุติว่ามีควายอยู่สองตัว ตัวหนึ่งมีเจ้าของตามรักษาดูแล ก็จะเปรียบเทียบถึงเรื่องสัตว์ให้ฟัง คือ ที่มีเจ้าของตามรักษาดูแล พูดถึงประโยชน์มีอย่างไรบ้าง อันนี้เคยเล่าสู่กันฟังแล้วว่า ควายที่มีเจ้าของตามดูแลรักษานั้น ย่อมจะปลอดภัยหรือมีประโยชน์หลายสิ่งหลายอย่าง เช่น อันตรายที่บังเกิดขึ้นแก่ควาย เช่น สัตว์ร้ายที่จะกัดก็ดี เจ้าของย่อมจะรู้ก็อาจจะต้อนหรือไล่หนีไปเสีย หรือบางทีอาจจะเข้าไปกินข้าวของของบุคคลผู้อื่น เจ้าของเห็นแล้วอาจจะต้อนหรือไล่หนีให้ปลอดภัยไปได้ นี่อีกประการหนึ่ง หรือโจรที่จะเอาไปได้ นี่อีกประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง สวนหญ้าที่ดี ๆ มีอยู่ ณ สถานที่ใด เจ้าของก็มักจะต้อนเข้าไปหาลานหญ้าให้สะดวกแก่การกินหญ้า และนี่เป็นอีกประการหนึ่ง หนองน้ำซึ่งมีอยู่ ณ สถานที่ใดดี พอที่จะสะดวกก็มักจะต้อนควายไปสู่หนองน้ำที่ดีอย่างนี้เป็นต้น พอถึงเวลาที่จะเอากลับบ้าน เจ้าของก็ต้อนเข้าคอก แล้วปิดประตูแน่นหนาป้องกันโจรที่จะมาขโมยยามค่ำคืนได้อีกด้วย นี่พูดถึงความสะดวกสบายและความปลอดภัย

            ที่นี้ ส่วนควายที่ไม่มีเจ้าของตามรักษาดูแล ย่อมมีภัยอันตรายอยู่รอบด้าน เช่น โจรอาจจะมาขโมยไป อันนี้สะดวกมาก เพราะไม่มีเจ้าของตามรักษาดูแล หรืออาจจะเข้าไปใกล้สัตว์ทีเป็นพิษภัย เช่น เสือ งู อย่างนี้เป็นต้น ก็อาจกัดควายเสียให้ตายก็ได้ หรือของที่เจ้าของเขาหวงแหน ควายตัวที่ไม่มีเจ้าของตามรักษาดูแล อาจจะเข้าไปย่ำหรือกินของเขาหวงแหน ควายที่ไม่มีเจ้าของตามรักษาดูแล อาจจะเข้าไปย่ำหรือกินของนั้น ย่อมจะมีโทษมาถึงตัวเจ้าของหรือเจ้าของ ๆ นั้นมาเห็นเข้าอาจจะฟัน หรือตี ให้ได้รับความเจ็บป่วยเสียหายได้ หรือลานหญ้าอันที่มีหญ้าดี ๆ ควายก็มักจะไม่ได้สอดส่องมองเห็นได้ดี จึงไม่สะดวกในการแสวงหาหญ้าหรืออาหารได้ดี ตลอดหนองน้ำที่ดีอย่างนี้เป็นต้น ควายก็อาจจะไม่เข้าใจได้ดีเหมือนเจ้าของ เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นไปตามลำพังของควายแล้ว ก็อาจจะเป็นภัยอันตรายได้ง่าย อันนี้ฉันใด หมายถึงผู้บำเพ็ญและไม่ได้บำเพ็ญก็แตกต่างกัน ผู้ที่มีการบำเพ็ญซึ่งสมาธิจิตนั้น อย่างที่พวกเราปรารภ ผู้ที่ดำเนินในหลักสัมมาสมาธิหรืออุบายที่ถูกต้อง เรียกว่าสมาธิที่ถูก เช่น ดุจในองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าดำเนินเป็นไปพือความสำเร็จเป็นสยัมภูนั้น เป็นอุบายที่จะสร้างกำลังขึ้นมานำพาไปสู่จุดที่ถูกที่ควรของจิต อย่างที่พวกเราเข้าใจถึงกฎเกณฑ์การดำเนิน เช่น สร้างกำลังคุ้มครองหรือสร้างตัวกำลังที่เป็นตัว “อริยมัคคุเทศก์” ตัวพิพากษาความที่จะปรับปรุงแก้ไขจิตของเรา ให้เข้าสู่จุดที่ควรอย่างนี้เป็นต้น หากในเมื่อเราบำเพ็ญเป็นไปดีแล้ว สร้างกำลังทั้งสองอย่างนี้ขึ้นมาได้ดีแล้วนั้น การคุ้มครองกิริยาอาการทุกอย่างย่อมจะสมบูรณ์ แม้แต่เราจะลุกขึ้น ไม่เป็นไปตามธรรมชาติธรรมดา อาศัยกำลังทั้งสองอย่างเป็นสิ่งรัดกุม และเป็นสิ่งที่สอดส่องพิจารณาตามเพศ วัย ฐานะของตนเอง ว่าการลุกขึ้นอย่างไรจึงจะเหมาะจึงจะสวย จึงจะงาม ตลอดการมองซ้ายมองขวา งานการทุกอย่างที่กระทำไม่เพียงแต่ความรู้สึกวูบแล้วก็เป็นไปตามความรู้สึกหรือเหตุการณ์อันที่จะชวนให้เรารักและชัง ไม่อาศัยเหตุการณ์อย่างเดียว ที่จะกระตุ้นจิตของเราให้เป็นไปตามรูปของเหตุการณ์ได้ ต้องอาศัยกำลังตัวยับยั้ง ยับยั้งจิตของเราไว้ก่อน อาศัยตัวกำลัง “อริยมัคคุเทศก์” สอดส่องถึงผลดีผลเสีย หากในเมื่อปล่อยให้ความรู้สึกกระตุ้นส่วนภายนอก คือ กายและวาจา ให้เป็นไปตามความรู้สึกนั้น แล้วจะเกิดผลดีผลเสียอย่างไรบ้าง กำลังตัวอริยมัคคุเทศก์นี้จะเข้าสอดส่องพิจารณาถึงผลเสียก่อน หากในเมื่อเป็นไปเพื่อผลเสียแล้ว ประกอบด้วยโทษก็จะต้องห้ามทันที หากจะเป็นไปเพื่อผลดีประกอบด้วยประโยชน์ ถึงแม้จะขัดต่ออัธยาศัยของกิเลสหรือขัดต่ออัธยาศัยของจิตเดิม ก็จะต้องหาอุบายบังคับหรือทำให้จิตของเราพอใจ ในกิจการงานที่กระทำอันนั้น ย่อมกระทำได้อย่างนี้เสมอไป หรือผู้ที่มีกำลังคุ้มครองจิตที่จะไม่เป็นไปตามรูปนั้น ๆ ทุกกิริยาอาการทั้งหมดนี้ ไม่ให้เป็นไปโดยธรรมชาติธรรมดา ปราศจากตัวบังคับ ปราศจากตัวสอดส่องมองเห็นคุณหรือโทษเลย ย่อมเป็นกำลังทั้งสองอย่างนำพาไม่ให้เป็นไปตามรูปเหตุการณ์อยู่เสมอ เปรียบเสมือนหนึ่งควายที่มีเจ้าของตามรักษาดูแลเหมือนกัน สามารถจะบังคับให้ไปกินหญ้าในสถานที่มีลานหญ้าดี ๆ บังคับให้ไปกินน้ำในหนองน้ำที่ใส ย่อมเป็นประโยชน์ดี หรือในคลองน้ำและโอกาสที่นอนอย่างนี้เป็นต้น อาจจะต้อนหรือบังคับออกหนีจากสิ่งที่เป็นภัยอันตรายแก่ควาย หรืออาจจะเป็นภัยอันตรายมาถึงตัวเจ้าของอย่างนี้เป็นต้น ตามธรรมดาคนที่ตามรักษาดูแลนี้ ต้องรักษาและนำพาเข้าไปหาจุดที่ปลอดภัย และจุดที่มีลานหญ้าดีฉันใด ผู้ที่มีกำลังสมาธิอันสร้างขึ้นมาได้ดีแล้ว เรียกว่าสัมมาสมาธิ ย่อมจะนำการเคลื่อนไหวหรือการดำเนินทุกอย่างเข้าสู่จุดที่ถูกที่ควรอยู่เป็นอย่างนี้

             ทีนี้ มาเทียบถึงบุคคลที่ไม่มีการบำเพ็ญภาวนา ก็เปรียบเสมือนควายอันที่ไม่มีเจ้าของตามรักษาดูแลปล่อยไปตามธรรมชาติธรรมดาที่จิตของผู้ไม่มีสมาธิเป็นเครื่องคุมเครื่องนำแล้ว ต้องอาศัยเหตุการณ์เป็นสิ่งนำพา เหตุการณ์ชวนให้รักก็รักไปตามเหตุการณ์ เหตุการณ์ชวนให้เกลียดให้โกรธให้ชัง ก็เป็นไปตามรูปของเหตุการณ์ ไม่มีกำลังส่วนใดมาจัดสรร ไม่มีกำลังส่วนใดเข้ามาพิสูจน์ผลเสียผลดี ความรู้สึกวูบขึ้นมาก็ปล่อยไปตามความรู้สึก ฉะนั้นเหตุการณ์อันอลเวงที่เกิดขึ้นก็เนื่องจากผู้ไม่มีการบำเพ็ญภาวนาเป็นสิ่งยับยั้งจิตใจของตัวเอง ปล่อยให้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามเหตุการณ์วูบเดียว ดึงส่วนภายนอกให้ไหวตาม กายก็ต้องแสดงบทบาทเป็นไปตามความรู้สึก วาจาก็ต้องเป็นไปตามรู้ของความรู้สึก ก็ในเมื่อจิตใจได้รู้เหตุการณ์ได้เห็นเหตุการณ์อันแสดงแล้ว จะทำให้หัวเราะเบิกบานก็เป็นไปตามรูปนั้นเลย หากในเมื่อเหตุการณ์จะชวนให้เกลียดโกรธ ก็ต้องแสดงบทบาทโกรธขึ้นมาทันที เพราะอยู่ใต้อำนาจเหตุการณ์หรือเหตุการณ์อันที่ประสบรุนแรง เมื่อเจ้าตัวหนีจากเหตุการณ์อันนั้นไปแล้วก็ตาม เมื่อไปถึงบ้านก็ถึงขนาดนอนไม่หลับ พลิกคว่ำพลิกหงายเป็นทุกข์เดือดร้อนอย่างนี้เป็นต้น ก็เนื่องจากไม่มีอำนาจตัวบังคับให้จิตใจวางต่อเหตุการณ์อันนั้นได้ จึงได้รับความเดือดร้อนวุ่นวายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

            องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้มีการดำเนินทางด้านสมาธิจิตเป็นไปตามหลักของสัมมาสมาธิได้สำเร็จเป็นสยัมภูนั้น ย่อมมีอำนาจคุณธรรมสองอย่าง คือ อำนาจตัวคุ้มครองกับอำนาจตัวอริยมัคคุเทศก์สมบูรณ์ ย่อมจัดสรรนำพาทุกสิ่งทุกส่วนของพระองค์ให้เป็นไปตามรูปของธรรม เรียกว่าดำเนินไปตามธรรม จึงเรียกว่าพระองค์ผู้ได้ธรรมเรียกว่า “กายธรรม” เป็นไปตามรูปของพระธรรมอยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกในอันที่จะเป็นไปด้วยการเบียดเบียน สร้างความทุกข์ให้ตนเองและผู้อื่นเหล่านี้เป็นต้น ย่อมจะไม่ปรากฏแม้แต่กิริยาจิตเดียว ย่อมมีความแผ่ซ่านด้วยจิตอันเมตตา มีความสงสารเมตตาสภาวสัตว์ ผู้ที่มีความประมาทในทรัพย์ ก็ย่อมจะแนะนำให้เข้าใจเท่าที่จะกระทำได้ นอกจากผู้ไม่มีความเกี่ยวข้องกันและไม่มีทางจะแก้ไขได้ พระองค์ก็ต้องปล่อยตามหลักพรหมวิหารธรรม คือ อุเบกขา เป็นต้นอย่างนี้ จนกระทั่งในอุบายวิธีที่จะนำพาและสั่งสอนปวงชนเวไนยสัตว์ให้เข้าถึงกฏเกณฑ์ของการทำสมาธิ ตามกำลังของตนเอง เท่าที่จะกระทำได้ ผู้ใดสามารถสำเร็จมรรคผลเพียงแค่ “โสดา” ท่านก็ให้อุบายของธรรมพอที่จะก้าวและสำเร็จเป็นไปเพื่อโสดาบันบุคคลได้ พระองค์ก็แนะนำธรรมมะภาคปฏิบัติกฏเกณฑ์การดำเนินที่จะก้าวไปสู่ความหมดจดจากภพชาติและกิเลสได้

            เพราะฉะนั้น องค์สมเด็จพระผู้มีภาคเจ้าผู้เป็นตัวอย่างที่ดีงาม พระองค์ดำเนินเข้าไปสู่หลักสัมมาสมาธินี้ได้ดำเนินเป็นไปดีแล้ว มีคุณธรรมเป็นสิ่งกระตุ้นนำพา เป็นบรรทัดฐานก้าวไปสู่คุณธรรมอยู่เสมอ จึงไม่เป็นพิษไม่เป็นภัยต่อสัตว์โลกทั้งปวง ตั้งแต่มนุษย์จนถึงสัตว์เดรัจฉาน เพราะฉะนั้นผู้ที่มีสมาธิจิตทั้งหลายนี้ ตัวเองก็ได้ความสบายความสุข เพราะความรู้สึกที่จะเป็นไปตามรูปของเหตุการณ์ที่แสดงนั้น จะไม่มีความสามารถกระตุ้นความรู้สึกให้เป็นไปตามรูปของมันได้ ย่อมเป็นกำลังตัวกางกั้น คือ สติ ตัวคุ้มครอง มีปัญญาคือตัวอริยมัคคุเทศก์เป็นตัวที่สอดส่องหาเหตุผล อันที่จะบังเกิดผลดีและผลเสีย เท่าที่ปล่อยให้เป็นไปตามรูปของเหตุการณ์หรือตามรูปของความรู้สึกนี้ กำลังตัวสอดส่องมองหาเหตุผลมาแก้ไขจิตของตนอยู่ตลอดเวลา อำนาจตัวคุ้มครองจะต้องสั่งบังคับจิตให้อยู่ในอำนาจตัวบังคับ เหตุการณ์อันที่จะปรากฏ ใช้อำนาจปัญญาญาณเข้าสอดส่องพิจารณาแล้ว มองเห็นโทษอันที่จะเป็นไปตามรูปนี้ เอามาแก้ไขจิต จิตจะวางต่อสภาวะอันนั้นได้ จึงเรียกว่าปกติอยู่ ไม่มีการหวั่นไหวต่อโลกธรรมได้ นี่เป็นอย่างนี้

            เพราะฉะนั้น พวกเราผู้บำเพ็ญทั้งหลายต้องพิจารณาเถิด หาช่องทางอุบายวิธีดำเนินในรูปแบบผู้ที่มีสมาธิ เปรียบเสมือนดังที่เล่าสู่ฟังว่าควายอันที่ได้รับความปลอดภัย เพราะเจ้าของระวังตามรักษาดูแล อย่าได้ปล่อยจิตใจของตน เหมือนอย่างที่ควายที่เจ้าของไม่ได้ตามรักษาดูแลเลย ทีนี้ถ้าจะพูดถึงเรื่องผลแล้ว ปัจจุบันนี้ผู้บำเพ็ญสมาธิยังมีความสุขสบาย เหตุการณ์ทั้งหลายแหล่ ถึงแม้จะปรากฏสักแค่ไหนก็ตาม ไม่เป็นไปตามรูปของเหตุการณ์ เหตุการณ์จะชวนให้ทุกข์มันก็ไม่ทุกข์ เหตุการณ์จะชวนให้เพลิดเพลินเจริญใจ ก็ไม่เป็นไปตามรูปของเหตุการณ์ มันอยู่ในสภาวะที่เรียกว่าปกติอยู่ ไม่หวั่นไหว สบายมาก หากในเมื่อจิตใจของเราอยู่ในอำนาจของคุณธรรมนำพาอยู่อย่างนี้แล้ว หากในเมื่อถึงวันที่เราจะจากร่างนี้ไป รับรองว่าไม่มีความเศร้าหมอง เพราะอำนาจตัวคุ้มครองตัวนำพา เป็นคุณธรรมนำพาจิตของเราให้ยึดเอาธรรมหรือความดีที่เรากระทำมาแล้ว เป็นอารมณ์คู่ใจอยู่ตลอดเวลา ถึงวันที่เราจะจากร่างนี้ไป เรามีอารมณ์ที่ดีเป็นคู่ของใจแล้ว มีหวังสุคติภพคือสวรรค์ย่อมเป็นสถานที่ไปของพวกเรา สูงสุดก็คือนิพพาน ตรงกันข้ามกับผุ้ที่ไม่มีสมาธิจิต หากในเมื่อถึงวันแล้วไม่รู้ว่าอารมณ์อะไรเข้ามาสุมใจตัวเอง เมื่อเรานึกถึงอารมณ์อย่างไรได้ อารมณ์เหล่านั้นแหละจะเป็นสิ่งนำพาเราไปสู่ความวุ่นวายตามเรื่องของตนเองนั้นแหละ เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเราจงพากันฝึกฝนจิตใจของตนเอง ให้มีความพอใจและดูดดื่มในธรรมะ หรือในความดีของตัวเองที่ได้กระทำมา เช่น การให้ทานก็ดี การรักษาศีลก็ดี การเจริญเมตตาภาวนาก็ดี อารมณ์อันเป็นที่เศร้าหมอง จะเป็นไปตามรูปของมัน หาอุบายวิธีมาแก้ไขเสียแต่บัดนี้เป็นต้นไป ให้จิตใจของเราเบิกบานอยู่ตลอดเวลา ถ้าเราทำได้อย่างนี้นั้น ไม่เสียทีที่เกิดมาพบปะพระพุทธศาสนา ไม่เสียทีที่พวกเราเสียสละมาบำเพ็ญ ถ้าพวกเรากระทำไม่ได้แล้ว ไม่สู้จะแน่นักนะ หากในเมื่อเราพลาดในชาติปัจจุบันนี้แล้ว โอกาสที่เราจะได้พบปะพระพุทธศาสนา ไม่รู้จะพบปะอีกเมื่อไร เพราะพระพุทธเจ้าไม่ได้มาตรัสรู้อยู่เสมอไป นาน ๆ จึงจะมาตรัสรู้องค์หนึ่ง เราก็ต้องไปเกิดตามดวงดาวบนท้องฟ้า ดูซิดวงตามีหลายดวง แต่ละดวงก็เป็นแต่ละจักรวาลหนึ่ง ๆ บางจักรวาลก็เต็มไปด้วยความสุข บางจักรวาลก็เต็มไปด้วยความทุกข์ เรียกว่านรก บางจักรวาลก็เป็นแสงสว่างหรือให้ความอบอุ่นแก่โลกอื่น เรียกว่า โลกพระอาทิตย์เป็นต้น ซึ่งพวกเราก็พอจะมองเห็นได้

             เพราะฉะนั้น ขอให้พวกเราจงหาช่องทางดำเนินตัวของตัวเอง ให้เข้าสู่อารมณ์ที่ดีงามเป็นคู่ของใจไว้ ในวันที่เราจะจากร่างนี้ไป จึงไม่เสียทีที่เกิดมาพบปะพระพุทธศาสนา หากในเมื่อเราไปสู่ลัคคาลัยคือ สวรรค์ มีโอกาสที่จะต้องมาเกิด เราจะได้มาเกิดในยุคคราวที่มีพระพุทธศาสนา ได้ต่อเติมบารมี คือ ความดีให้ยิ่งต่อไป ฉะนั้นขอให้พวกเราจงพากันพยายามเถิด

            อาตมาภาพชี้แจงอะไรให้ยืดยาวนัก ก็เป็นห่วงผู้ที่จะเดินทางไกล จะเหนื่อย จะเมื่อย ต่อไปนี้ก็จะได้ไหว้พระแล้ว (ทำวัตรค่ำ) อาตมาภาพอธิบายเหตุผลให้ฟังโดยย่อก็ขอให้พวกเราจงเอาอุบายวิธีนี้ไปใคร่ครวญคิดให้ดีเสีย ถ้าเข้าใจว่าหากในเมื่อพวกเรามีอุบายการทำสมาธิจิตที่ถูกต้องดีแล้ว ย่อมจะคุ้มครองจิตใจของพวกเราให้อยู่ในอารมณ์ที่ดีตลอด ไม่มีอารมณ์อันเศร้าหมอง ไม่มีความรู้สึกที่จะเป็นไปเพื่อเบียดเบียนคนอื่นและสัตว์อื่นแล้ว หากในเมื่อพวกเราเข้าใจว่าการดำเนินอย่างนี้จะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์อันดีงามสำหรับตัวเอง ย่อมจะทำให้เป็นความสุขสบายแก่ตัวเองแล้ว จงพยายามหาอุบายดำเนินตามวิธีนั้น พวกเราก็จะได้ประสบแต่ความสุข ความเจริญ ตลอดกาลนาน

            ในที่สุดยุติลงแห่งการกล่าวสัมโมทนียกถาโดยย่อนี้ อาตมาขออัญเชิญคุณพระศรีรัตนตรัยแล้วทั้งสามที่มีความศักดิ์สิทธิ์ คือ พุทธานุภาเวนะ, ด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้า ธัมมานุภาเวนะ, ด้วยอานุภาพของพระธรรม สังฆานุภาเวนะ, ด้วยอานุภาพของพระสงฆ์ สิ่งที่มีอานุภาพที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ๓ ประการนี้ จงมาคุ้มครองอภิบาลท่านทายก อุบาสกอุบาสิกา ที่เสียสละมาเพื่อทำความดีนี้ จงประสบแต่ความสุขความเจริญสิ่งใดที่มุ่งมาดปรารถนาเอาไว้ สิ่งนั้นถึงแม้จะสำเร็จโดยช้า ก็ขอให้สำเร็จโดยเร็วพลัน หรือสิ่งใดอันที่จะจวนจะสำเร็จแล้วหรืออยู่ใกล้ ก็ขอให้สำเร็จโดยเร็วพลันในวันพรุ่งนี้หรือวันนี้ พรทั้งหลายที่อาตมภาพให้นี้จงสำเร็จแก่พวกท่านทั้งหลายทุกประการเทอญฯ