พระวิสุทธิญาณเถร (26) หนองท่มท่ากะดัน พ.ศ. ๒๔๙๘

(26) หนองท่มท่ากะดัน พ.ศ. ๒๔๙๘

ภายหลังจากได้กราบลาหลวงปู่ฝั้น ลงมาจากถ้ำขามแล้ว หลวงปู่ก็ได้นำพาหมู่คณะมุ่ง หน้าไปทางอำเภอวานรนิวาสได้ไปพักอยู่ที่ บ้านหนองแอก บ้านหนองท่มท่ากะดัน และ บ้านดงหม้อทอง ได้สับเปลี่ยนที่บำเพ็ญระหว่างสามหมู่บ้านนี้มาเรื่อยๆ จนใกล้จะถึงเวลาเข้าพรรษา จึงได้ตกลงใจพาหมู่คณะไปจำพรรษาที่ป่าช้าบ้านหนองท่มท่ากะดัน

ท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ได้มาจำพรรษาที่บ้านดงหม้อทอง และท่านพระอาจารย์สภาพ ธมมปญโญ ก็ได้มาจำพรรษาที่บ้านหนองแอก ทั้งสามหมู่บ้านนี้อยู่ไม่ห่างไกลกันนัก พอถึงวันอุโบสถหนึ่งๆ ครูบาอาจารย์ท่านก็ได้มารวมกันสวดปาฏิโมกข์ และ ก็ได้สนทนาถึงเรื่องอุบายวิธีการปฏิบัติซึ่งกันและกัน เป็นประจำตลอดฤดูกาลพรรษา



ป่าช้าบ้านหนองท่มท่ากะดันนี้มีสภาพเป็นป่าแฝกสมัยนั้นเสือยังชุกชุมมาก จึงได้ช่วยกันปลูกกุฏิทีเดียว ๑๔ หลัง พระเณรได้ช่วยกันบูรณะพัฒนาสภาพป่า ป่าช้าให้โล่งโปร่ง เพื่อสะดวกในการบำเพ็ญสมณธรรม ตลอดพรรษาพระ เณรทุกองค์ก็ได้เร่งทำความเพียรกันทั้งกลางวันและกลางคืน กลางวันหลวงปู่ก็ได้นำหนังสือบุพพสิกขาวรรณนา

ซึ่งเป็น หนังสือเกี่ยวกับพระวินัยมาอ่านถวายความรู้แก่พระภิกษุสามเณรเป็นประจำทุกวันตลอดพรรษา ในวันพระ หลวงปู่ก็ต้องเป็นภาระอบรมสั่งสอนชาวบ้านที่มารักษาศีลฟังธรรม โดย หลวงปู่อบรมด้วย นำภาวนาด้วย แต่ตอนกลางคืนเวลาพระเณรเดินจงกรม หรือนั่งสมาธิ ต้องคอยระมัดระวังเสือให้ดีเพราะไม่รู้ว่ามันจะแอบมาคาบไปเมื่อไร กุฏิหลังไหนที่เห็นว่าจะ เป็นทางผ่านของเสือ

ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายแก่พระเณรแล้ว หลวงปู่จะต้องไปอยู่กุฏิหลังนั้น เพื่อคอยระมัดระวังอันตรายอันจะเกิดขึ้นกับหมู่คณะ และให้พระเล็กเณรน้อยอบอุ่นใจมากขึ้น ท่านมีนิสัยรักหมู่คณะตลอดมา สิ่งไหนที่ไม่ดี หรีออาจจะเป็นอันตรายแก่หมู่คณะ หรีอครูบาอาจารย์ ท่านจะต้องขอรับเองเสียก่อนก่อนที่อันตรายนั้นจะไปถึงหมู่คณะ หรือครูบาอาจารย์


ได้พักบำเพ็ญที่ป่าช้าบ้านหนองท่มท่ากะดัน ๑ พรรษา พอออกพรรษาแล้วก็ได้อำลาญาติโยมผู้ให้การอุปถัมภ์ มีสารวัตรแสนพ่อออกจารย์ลี-พ่อออกจารย์บุญ และแม่ออกนา เป็นต้น เสร็จแล้วก็ออกเดินทางมุ่งหน้าไปทาง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ผ่านบ้านหนองยอง บ้านหนองแข็ง จนกระทั่งถึงริมฝั่งโขง และถึงบ้านโพนแพง

ใน ช่วงนั้นพอดีตรงกับงานนมัสการรอยพระบาทบ้านโพนแพง จึงได้พากันเข้าไปนมัสการรอยพระบาทก่อนออกเดินทางต่อ เห็นมีประชาชนเดินทางไปนมัสการกันเป็นจำนวนมากไม่ขาดระยะ เพราะเชื่อกันว่าเป็นรอยพระบาทที่ศักดิ์สิทธิ์มาก สำหรับฝั่งตรงข้ามคือด้านประเทศลาว ก็มีรอยพระบาทอย่าง เดียวกันนี้อีกหนึ่งรอย เรียกกันว่ารอยพระบาทบ้านโพนสัน ก็ เชื่อกันว่าเป็นของจริงและศักดิ์สิทธิ์อีกเช่นกัน

ในสมัยนั้นจึง เป็นธรรมเนียมที่ว่าเมื่อนมัสการรอยพระบาทบ้านโพนแพงแล้ว ก็ต้องข้ามไปนมัสการรอยพระบาทบ้านโพนสันทางฝั่งลาวด้วย จึงจะถือเป็นสิริมงคลอย่างยิ่งทีเดียว